อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม(กรอ.) กระทรวงอุตสาหกรรมทองชัย ชวลิตพิเชฐ ระบุขณะนี้ พ.ร.บ.โรงงานฉบับใหม่ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วเมื่อวันที่ 30 เมษายน 2562 และจะมีผลบังคับใช้เมื่อพ้นกำหนด 180 วัน นับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา หรือในวันที่ 27 ตุลาคม 2562
ซึ่งจะเป็นผลดีต่ออุตสาหกรรมภาพรวมของประเทศ ทั้งการลงทุนและการจ้างงาน เนื่องจากจะช่วยอำนวยความสะดวกแก่ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมที่ปัจจุบันมีปริมาณกว่า 140,000 แห่งทั่วประเทศ โดยเฉพาะผู้ประกอบธุรกิจเอสเอ็มอีประมาณ 70,000 รายที่ไม่ต้องขอใบอนุญาตใบประกอบกิจการโรงงาน (ร.ง.4)
ขณะที่ผู้ประกอบการทั่วไปก็ไม่ต้องต่ออายุใบ ร.ง.4 อีกต่อไปจากเดิมที่ผู้ประกอบการต้องต่ออายุใบ ร.ง.4 ทุกๆ 5 ปี
"ตอนนี้ พ.ร.บ.โรงงานฉบับใหม่ทั้ง 2 ฉบับคือฉบับที่ 2 และฉบับที่ 3 ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว โดยในส่วนของฉบับที่ 3 เกี่ยวกับอำนาจขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้น ได้มีผลบังคับใช้ถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา หรือตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2562 ส่วนฉบับที่ 2 ก็จะนับอีก 180 วันหรือจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 27 ตุลาคม 2562
อย่างไรก็ตาม กรอ.มั่นใจว่าพ.ร.บ.โรงงานฉบับใหม่ที่จะมีผลบังคับใช้ในเร็วๆ นี้ จะไม่มีข้อเสียใดๆ เนื่องจากการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายครั้งนี้ทำให้การประกอบกิจการได้รับความสะดวกและมีความคล่องตัวขึ้น และที่สำคัญการปรับปรุงแก้ไขนี้ไม่ทำให้การกำกับดูแลผ่อนคลายลงแต่อย่างใด เพราะประชาชนก็ยังได้รับความคุ้มครองจากการกำกับดูแลที่จะทำให้โรงงานไม่ก่อให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมหรือความไม่ปลอดภัยใดๆ เช่นเดิม " นายทองชัย กล่าว
นายทองชัย กล่าวต่อว่า สำหรับสาระสำคัญอื่นๆ ของพ.ร.บ.โรงงานฉบับใหม่
เช่น
แก้ไขขอบเขตการเป็นโรงงานจากเดิมต้องมีเครื่องจักร 5 แรงม้า หรือคนงาน 7 คน มาเป็น 50 แรงม้า หรือคนงาน 50 คน พร้อมทั้งมีการกำหนดให้มีผู้ตรวจสอบเอกชนที่มาตรวจสอบโรงงานหรือเครื่องจักรแทนพนักงานเจ้าหน้าที่ได้
โดยผู้ตรวจสอบเอกชนนั้นจะต้องได้รับใบอนุญาตตรวจสอบรับรองจากกรมโรงงานอุตสาหกรรมก่อน
และที่สำคัญการกำกับดูแลผู้ตรวจสอบเอกชนก็มีความเข้มงวด หากผู้ตรวจสอบเอกชนจัดทำรายงานเท็จก็จะมีโทษจำคุกหรือปรับหรือทั้งจำทั้งปรับอีกด้วย
นอกจากนี้ยังกำหนดให้ผู้ประกอบกิจการโรงงานจะต้องมีการรับรองตนเอง หรือ Self-declared
ว่าได้มีการปฏิบัติตามกฎหมายอย่างถูกต้องตามระยะเวลาที่กำหนด ส่วนการปรับปรุงหลักเกณฑ์การขยายโรงงานให้เหมาะสมกับสภาพข้อเท็จจริงที่มีการเปลี่ยนแปลงเพื่อให้เกิดความสะดวกและความคล่องตัวในการขยายโรงงาน โดยเฉพาะโรงงานขนาดใหญ่
จะทำให้เกิดความต่อเนื่องในภาคการผลิต อันจะทำให้เกิดประโยชน์ต่อเศรษฐกิจของประเทศ
รวมถึงมีการกำหนดหลักเกณฑ์การโอนใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานให้เหมาะสมยิ่งขึ้น และยังมีการปรับปรุงบัญชีอัตราค่าธรรมเนียมให้เหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจและสังคมที่มีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก เป็นต้น