เขตปลอดอากร (Free ZoneX
ReadyPlanet.com
bullet กฎกระทรวง กําหนดลักษณะอาคารประเภทอื่นที่ใช้ประกอบธุรกิจโรงแรม พ.ศ. ๒๕๕๙
dot
Group Menu
dot
bulletวุฒิวิศวกรออกแบบโครงสร้าง
dot
Newsletter

dot
bulletโครงการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม
bulletวิศวกร งานโลหะ และ เหล็ก
bulletสารพัดปัญหาของวิศวกรโยธา ก่อสร้าง
bulletรับรองความมั่นคงอาคาร โรงเรียนกวดวิชา วุฒิวิศวกร
bulletคณภาพของ วิศวกร
bulletไฟไหม้ กับ งาน วิศวกร โยธา
bulletPower Plant Job กับ งาน วิศวกร
bulletวิศวกรโยธา กับ ตลาด รับสร้าง บ้านชิ้นส่วนสำเร็จรูป
bulletวิศวกร กำหนด มาตราฐาน ออกแบบ แผนผังโรงงาน
bulletวิศวกร กับ การเลือกทำเล ที่ตั้งโรงงาน
bulletขอบเขตงานที่วิศวกร ระดับต่างๆ ทำได้ แก้ไขใหม่
bulletมาตรฐานกําหนดตําแหน่งสายงาน วิศวกรรมโยธา
bulletน้ำ และ สารผสม คอนกรีต
bulletgooglebc0321ea4a8e3495.html




เขตปลอดอากร (Free ZoneX
  1. บริการ ช่วย จัดตั้งเขตปลอดอากร โดย บริษัท 4 ดับบลิว ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด ทีมงาน วุฒิวิศวกร ไฟฟ้า วุฒิวิศวกร เครื่องกล วุฒิสถาปนิก วุฒิวิศวกร อุตสาหการ นำทีมโดย วุฒิวิศวกรโยธา
  2. บริการจัดให้คำปรึกษา และปรับปรุง ให้มีระบบสาธารณูปโภค สิ่งอำนวยความสะดวก และบริการที่จำเป็น ตามความเหมาะสมกับลักษณะและขนาดของกิจการแต่ละประเภทบนพื้นฐานทั่วไปดังต่อไปนี้
    1. ระบบถนนภายในและถนนเชื่อมต่อกับถนนหรือทางสาธารณะภายนอกเขตปลอดอากร
    2. ระบบระบายน้ำฝนหรือระบบป้องกันน้ำท่วม
    3. ระบบประปา
    4. ระบบบำบัดน้ำเสียและระบบควบคุมและกำจัดมลพิษ
    5. ระบบสื่อสารโทรคมนาคม
    6. ระบบไฟฟ้า
    7. ระบบดับเพลิงและระบบป้องกันอุบัติภัย
    8. ระบบกำจัดกากอุตสาหกรรม มูลฝอย และสิ่งปฏิกูล
    9. ระบบติดตามตรวจสอบมลพิษและคุณภาพสิ่งแวดล้อม
    10. ระบบรักษาความปลอดภัย 

เพื่อให้ท่านได้ สามารถ ขอ อนุญาติ กรมศุลกากร ให้ได้สิทธิประโยชน์ตามเขตปลอดอากรได้อย่างรวดเร็ว

 

 

เขตปลอดอากร (Free Zone)

จากหน้าเวบไซต์ http://www.customs.go.th/cont_strc_simple.php?ini_content=tax_incentive_160929_03&ini_menu=menu_tax_incentive&lang=th&left_menu=menu_tax_incentive_160928_04

เขตปลอดอากร (Free Zone) หมายถึง เขตพื้นที่ซึ่งอธิบดีกรมศุลกากรอนุมัติให้จัดตั้งขึ้นตามมาตรา 97 ตรี แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมตามมาตรา 8 แห่ง พระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่ 18) พ.ศ. 2543 สำหรับการประกอบอุตสาหกรรม พาณิชยกรรม หรือกิจการอื่น ที่เป็นประโยชน์แก่การเศรษฐกิจของประเทศ โดยของที่นำเข้าไปในเขตดังกล่าวจะได้รับสิทธิประโยชน์ทางอากรตามที่กฎหมายบัญญัติ ซึ่งการจัดตั้งเขตปลอดอากรดังกล่าว สามารถกระทำได้โดยขออนุมัติต่ออธิบดีกรมศุลกากรเท่านั้น จึงมีความสะดวกรวดเร็วและเป็นหลักการที่มีความสอดคล้องกับหลักสากลดังที่บัญญัติไว้ในอนุสัญญาเกียวโตขององค์การศุลกากรโลก จึงเป็นการเพิ่มทางเลือกให้แก่ผู้ประกอบการส่งออกอีกทางหนึ่งที่จะเลือกใช้ให้เหมาะสมกับกิจการของตนได้

สิทธิประโยชน์ทางภาษีอากร ของที่นำเข้ามาในราชอาณาจักร 

เพื่อนำเข้าไปใช้ในเขตปลอดอากรจะได้รับสิทธิประโยชน์ ดังนี้

  1. ได้รับยกเว้นอากรสำหรับเครื่องจักร อุปกรณ์ เครื่องมือ เครื่องใช้ รวมทั้งส่วนประกอบของของดังกล่าวที่จำเป็น และของที่นำเข้ามาในราชอาณาจักรและนำเข้าไปในเขตปลอดอากร สำหรับใช้ในการประกอบอุตสาหกรรม พาณิชยกรรมหรือกิจการอื่นใดที่เป็นประโยชน์แก่การเศรษฐกิจของประเทศ ทั้งนี้ ของที่ไม่ได้รับสิทธิยกเว้นอากรขาเข้าสำหรับของที่ได้นำเข้ามาในราชอาณาจักร เพื่อนำเข้าไปในเขตปลอดอากร ได้แก่
    • ของต้องห้ามในการนำเข้ามาในราชอาณาจักร
    • ของที่ใช้เพื่อการอุปโภค-บริโภคภายในเขตปลอดอากร
    • ของใช้ส่วนตัวของบุคคลที่ปฏิบัติงานภายในเขตปลอดอากร
    • รถยนต์ ยานยนต์ และรถจักรยานยนต์ ทุกประเภทและทุกขนาดที่ต้องจดทะเบียนและเสียภาษีประจำปีสำหรับการใช้รถตามพระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ. 2522เว้นแต่ยานยนต์สำหรับใช้งานพิเศษ ตามประเภทพิกัด 87.05 และรถใช้งานตามประเภทพิกัด 87.09
  2. ให้ยกเว้นอากรขาออกสำหรับของที่ปล่อยออกจากเขตปลอดอากร เพื่อส่งออกนอกราชอาณาจักรตามมาตรา 97 เบญจวรรคสุดท้าย
  3. ได้รับยกเว้นภาษีสรรพสามิตสำหรับการนำเข้าและการผลิตของที่กระทำในเขตปลอดอากร รวมทั้งได้รับการยกเว้นภาษีสุราการปิดแสตมป์และค่าธรรมเนียมตามกฎหมายว่าด้วยสุรา กฎหมายว่าด้วยยาสูบ และกฎหมายว่าด้วยไพ่ ตามมาตรา 97 ฉ
  4. ได้รับยกเว้นไม่ต้องอยู่ภายในบังคับของกฎหมายในส่วนที่เกี่ยวกับการควบคุมมาตรฐานหรือคุณภาพ การประทับตราหรือเครื่องหมายใด ๆ สำหรับของที่นำเข้าไปในเขตปลอดอากรเพื่อผลิต ผสม ประกอบ บรรจุ หรือดำเนินการอื่นใดโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อการส่งออกไปนอกราชอาณาจักร ตามมาตรา 97 สัตต
  5. ได้รับยกเว้นอากรสำหรับเศษวัสดุ ของที่เสียหาย ของที่ใช้ไม่ได้ หรือของที่ไม่ได้ใช้ที่ได้รับอนุญาตจากอธิบดีกรมศุลกากรให้นำออกจากเขตปลอดอากรเพื่อกำจัดหรือทำลาย ตามมาตรา 97 นว วรรคสอง
  6. ได้รับยกเว้นอากรหรือคืนอากร หากนำของที่มีกฎหมายบัญญัติให้ได้รับยกเว้นอากรหรือคืนเงินอากรเมื่อส่งออกนอกราชอาณาจักร เข้าไปในเขตปลอดอากร โดยให้ถือว่าของนั้นได้ส่งออกไปนอกราชอาณาจักรในเวลาที่ได้นำของเช่นว่านั้นเข้าไปในเขตปลอดอากร ตามมาตรา 97 อัฎฐ
  7. ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับสินค้าต่างประเทศที่นำเข้าไปในเขตปลอดอากร ตามมาตรา 81(2) (ข) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 35) พ.ศ. 2544
  8. เสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 0 สำหรับการให้บริการที่กระทำในราชอาณาจักรเพื่อใช้ผลิตสินค้าในเขตปลอดอากรเพื่อส่งออก และการให้บริการที่กระทำในเขตอุตสาหกรรมส่งออกเพื่อใช้ผลิตสินค้าเพื่อส่งออก ตามมาตรา 80/1 (2) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 35) พ.ศ. 2544
  9. เสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 0 สำหรับการขายสินค้าหรือการให้บริการระหว่างผู้ประกอบการกับผู้ประกอบการที่ประกอบกิจการอยู่ในเขตปลอดอากร ไม่ว่าจะอยู่ในเขตเดียวกันหรือไม่ หรือระหว่างคลังสินค้าทัณฑ์บนกับผู้ประกอบการทีประกอบกิจการอยู่ในเขตปลอดอากร ตามมาตรา 80/1 (6) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 35) พ.ศ.2544


การจัดตั้งเขตปลอดอากร
ผู้ประสงค์ขอจัดตั้งเขตปลอดอากรจะต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการจัดตั้งเขตปลอดอากรที่กำหนดไว้ในประกาศกรมศุลกากรที่ 32/2559 ลงวันที่ 23 มีนาคม 2559

คุณสมบัติของผู้ขอจัดตั้งเขตปลอดอากร

  1. เป็นรัฐวิสาหกิจ หรือบริษัทมหาชน จำกัด ตามพระราชบัญญัติบริษัทมหาชนจำกัด พ.ศ. 2535 หรือบริษัท จำกัด ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ กรณีเป็นบริษัทจำกัดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์จะต้องมีทุนจดทะเบียนที่ชำระแล้วไม่ต่ำกว่า 60 ล้านบาท หรือมีทุนจดทะเบียนชำระแล้วในจำนวนที่อธิบดีเห็นว่าเหมาะสมกับประเภทของกิจการแต่อย่างน้อยต้องไม่ต่ำกว่า 20 ล้านบาท กรณีเป็นผู้ขอจัดตั้งเขตปลอดอากรในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษที่มิใช่รัฐวิสาหกิจหรือส่วนราชการจะต้องมีทุนจดทะเบียนที่ชำระแล้วไม่ต่ำกว่า 10 ล้านบาท หรือมีทุนจดทะเบียนชำระแล้วในจำนวนที่อธิบดีเห็นว่าเหมาะสมกับประเภทกิจการ
  2. เป็นกิจการที่มีฐานะทางการเงินมั่นคง โดยพิจารณาจากผลประกอบการที่ได้นำส่งงบการเงินต่อกระทรวงพาณิชย์ตามข้อกำหนดของกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งผู้ตรวจสอบบัญชีรับอนุญาตได้รับรองว่าเป็นกิจการที่มีกำไรย้อนหลังสามปีบัญชีสุดท้ายติดต่อกัน สำหรับนิติบุคคลที่จดทะเบียนใหม่ต้องเสนอรายงานการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการประกอบการพิจารณาด้วย
  3. เป็นผู้มีกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครอง หรือเป็นผู้มีสิทธิบริหารจัดการในที่ดินหรือพื้นที่ที่ขอจัดตั้ง หรือมีหลักฐานแสดงการได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองในที่ดินหรือพื้นที่ หรือกรณีที่ดินที่ขอจัดตั้งมีการจดทะเบียนจำนอง จะต้องให้ผู้ที่เป็นเจ้าของกรรมสิทธ์หรือสิทธิครอบครองหรือผู้รับจำนองยินยอมให้ดำเนินการจัดตั้งเป็นเขตปลอดอากรได้
  4. ต้องไม่เคยมีประวัติการกระทำความผิดอย่างร้ายแรงตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากร และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องกับการศุลกากร ย้อนหลัง 3 ปี นับแต่วันยื่นคำขอ

หลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการจัดตั้งเขตปลอดอากร
  1. สถานที่ที่ขอจัดตั้งเขตปลอดอากรสำหรับการประกอบอุตสาหกรรม พาณิชยกรรม หรือกิจการอื่นใดที่เป็นประโยชน์แก่การเศรษฐกิจของประเทศ จะต้องตั้งอยู่ในบริเวณที่อธิบดีหรือผู้ที่อธิบดีมอบหมายเห็นว่าเหมาะสม และสามารถควบคุมการใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีอากรได้ โดยสอดคล้องกับการใช้ประโยชน์ในที่ดินตามกฎหมายว่าด้วยผังเมืองตลอดจนกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องกำหนด และต้องได้รับอนุญาตจากหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องตามวัตถุประสงค์ในการจัดตั้งเขตปลอดอากร ดังนี้
    1. สถานที่ที่ขอจัดตั้งเขตปลอดอากรสำหรับการประกอบอุตสาหกรรมต้องมีขนาดและพื้นที่เหมาะสมกับประเภทกิจการและต้องเป็น
      • พื้นที่ที่ได้รับอนุมัติจากกระทรวงอุตสาหกรรมให้เป็นเขตประกอบการอุตสาหกรรมหรือเขตชุมชนอุตสาหกรรมประเภทอาคารโรงงานเอกเทศ หรือ
      • พื้นที่ที่ได้รับอนุญาตจากการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
      • ให้เป็นเขตอุตสาหกรรมทั่วไป และต้องได้รับอนุญาตหรือได้รับความยินยอมเป็นหนังสือจากสำนักงานนิคมอุตสาหกรรมนั้นๆ หรือ
      • พื้นที่ที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนในกิจการพัฒนาพื้นที่สำหรับกิจการอุตสาหกรรมประเภทนิคมหรือเขตอุตสาหกรรม ประเภทนิคมหรือเขตอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ ประเภทนิคมหรือเขตอุตสาหกรรมเพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ประเภทนิคมหรือเขตอุตสาหกรรมด้านเทคโนโลยีประเภทวิจัยและพัฒนา หรือ
      • พื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษตามประกาศคณะกรรมการนโยบาย เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษกำหนด หรือ
      • พื้นที่อื่นที่ได้รับอนุญาตให้ประกอบอุตสาหกรรมอื่นใดที่เป็นประโยชน์แก่การเศรษฐกิจของประเทศ โดยได้รับอนุญาตตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เช่น กฎหมายว่าด้วยการผังเมือง กฎหมายว่าด้วยการจัดสรรที่ดิน กฎหมายว่าด้วยโรงงาน กฎหมายว่าด้วยการควบคุมการก่อสร้างอาคาร กฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ เป็นต้น หรือ
      • พื้นที่ที่ขอจัดตั้งเขตปลอดอากรที่มีผู้ประกอบการอุตสาหกรรม พาณิชยกรรม หรือกิจการอื่นใดที่เป็นประโยชน์แก่การเศรษฐกิจอยู่ก่อนแล้ว โดยได้รับอนุญาตตามกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง
    2. สถานที่ที่ขอจัดตั้งเขตปลอดอากรสำหรับการประกอบพาณิชยกรรม จะต้องมีลักษณะเป็นศูนย์กระจายสินค้าระหว่างประเทศ (International Distribution Center) หรือเขตอุตสาหกรรม โลจิสติกส์ (Logistics Park) หรือกิจการศูนย์กระจายสินค้า (Distribution Center) ที่เกี่ยวเนื่องกับการประกอบอุตสาหกรรมและการค้าระหว่างประเทศ โดยมีพื้นที่ที่เหมาะสมขนาดไม่น้อยกว่า ๕๐ ไร่ และตั้งอยู่ในพื้นที่รัศมีไม่เกิน ๕๐ กิโลเมตรจากบริเวณท่าเรือหรือท่าอากาศยานระหว่างประเทศหรือจุดผ่านแดนถาวรหรือแนวระเบียงเศรษฐกิจอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง (GMS Economic Corridors) หรือแนวระเบียงเศรษฐกิจอื่น หรือในพื้นที่อื่นที่กรมศุลกากรเห็นชอบ และมีสถานที่เก็บสินค้าควบคุมด้วยระบบคอมพิวเตอร์ที่ทันสมัย ทั้งนี้ ผู้ขอจัดตั้งต้องเป็นกิจการที่เกี่ยวข้องกับการนำของเข้า การส่งของออก กิจการที่เกี่ยวเนื่องกับการอุตสาหกรรมหรือกิจการที่เกี่ยวกับการเพิ่มมูลค่าสินค้า ได้แก่
      • การค้า การบริการ หรือการขนส่งระหว่างประเทศ
      • การกระจายสินค้า คลังสินค้า การซื้อมาและขายไป
      • การบรรจุ การแบ่งบรรจุ การบรรจุใหม่ ในเชิงพาณิชยกรรม
      • การปิดฉลากหรือเครื่องหมายอื่นใด การปิดฉลากใหม่
      • การแสดงสินค้าหรือนิทรรศการ การประชุมระหว่างประเทศ
      • การซ่อมแซม และงานด้านวิศวกรรม ในเชิงพาณิชยกรรม
      • การตรวจสอบ วิเคราะห์ และรับรองคุณภาพของผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมหรือผลผลิตทางเกษตรกรรม
      • การประกอบกิจการในลักษณะของโรงพักสินค้านอกเขตทำเนียบท่าเรือ สำหรับการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบและ/หรือการขนส่งด้วยระบบตู้คอนเทนเนอร์บรรจุสินค้าของผู้นำของเข้าหรือผู้ส่งของออกมากกว่า ๑ ราย
      • กิจการอื่นๆ ที่อธิบดีเห็นว่าเป็นประโยชน์ต่อการเศรษฐกิจของประเทศ
    3. ผู้ขอจัดตั้งเขตปลอดอากร ณ ท่าอากาศยานนานาชาติ หรือท่าเรือ หรือ จุดผ่านแดนถาวรต้องเป็นกิจการที่เกี่ยวข้องกับการนำของเข้า การส่งของออก การถ่ายลำ การผ่านแดน การเปลี่ยนแปลงรูปแบบของการขนส่ง (Multimodal or Combine transport) การเก็บรักษาสินค้า หรือกิจการ ที่เกี่ยวกับการเพิ่มมูลค่าสินค้า ได้แก่
      • กิจการคลังสินค้าหรือโรงพักสินค้า ณ ท่าหรือที่ที่นำของเข้าหรือส่งของออก
      • การค้า การบริการ หรือการขนส่งระหว่างประเทศ
      • การแบ่งแยกกอง การจัดประเภท การคัดเลือก
      • การบรรจุ การแบ่งบรรจุ การบรรจุใหม่
      • การปิดฉลากหรือเครื่องหมายอื่นใด การปิดฉลากใหม่
      • การผสม/ประกอบ (Combined cargo or Consolidated cargo)
      • การซ่อมหรือสร้างอากาศยานหรือเรือ ชิ้นส่วน อุปกรณ์ เครื่องใช้ของอากาศยานหรือเรือ รวมทั้งภาชนะที่ใช้ในการขนส่ง
      • คลังสินค้าสำหรับเก็บของใช้สิ้นเปลืองในเรือหรืออากาศยานที่เดินทางไปต่างประเทศ รวมทั้งน้ำมันเชื้อเพลิง น้ำมันหล่อลื่น หรือพลังงานอย่างอื่น โดยผู้ขอจัดตั้งต้องจัดให้มีพื้นที่คลังสินค้าหรือโรงพักสินค้าสำหรับเป็นสถานที่ตรวจและเก็บสินค้าขาเข้าที่ยังไม่ได้ตรวจมอบและสถานที่ตรวจและเก็บสินค้าขาออกตามปกติ ตามมาตรา ๖ (๒) แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พุทธศักราช ๒๔๖๙ แยกตามสถานะทางกฎหมายในการจัดตั้งเป็นสัดส่วนอย่างชัดเจน
    4. กิจการอื่นที่อธิบดีหรือผู้ที่อธิบดีมอบหมายพิจารณาเห็นว่าเป็นประโยชน์ต่อการเศรษฐกิจของประเทศ เช่น คลังน้ำมัน โรงผลิตกระแสไฟฟ้า อุตสาหกรรมผลิตพลังงานทดแทนหรือพลังงานแสงอาทิตย์ อุตสาหกรรมผลิตไบโอดีเซลที่ได้รับความเห็นชอบจากกระทรวงพลังงาน อุตสาหกรรมวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์หรือนวัตกรรมต้นแบบ อุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์และอุปกรณ์ทางการแพทย์ เป็นต้น ทั้งนี้ เขตปลอดอากรตามข้อ 1.1 1.2 .1.3 และ 1.4 อาจเป็นเขตปลอดอากร เพื่อการประกอบอุตสาหกรรม หรือพาณิชยกรรม หรือกิจการอื่นใดที่เป็นประโยชน์ต่อการเศรษฐกิจของประเทศอย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่างในเขตพื้นที่เดียวกันก็ได้
  2. การจัดตั้งเขตปลอดอากรจะต้องไม่เป็นการจัดตั้งเพื่อประโยชน์ของผู้ประกอบกิจการรายใดรายหนึ่งเท่านั้น โดยเฉพาะการจัดตั้งเขตปลอดอากรเพื่อประกอบพาณิชยกรรมจะต้องมีการลงทุนในลักษณะของการรวมกลุ่ม (Cluster) และการให้บริการในรูปแบบสาธารณะ (Public Free Zones) เป็นสำคัญ เว้นแต่จะมีเหตุแสดงชัดว่าเพื่อประโยชน์ทางเศรษฐกิจของประเทศ กรณีที่มีผู้ประกอบการในเขตพื้นที่ที่ขอจัดตั้งเขตปลอดอากรอยู่ก่อนแล้วจะต้องได้รับความเห็นชอบจากอธิบดีหรือผู้ที่อธิบดีมอบหมาย
  3. ผู้ขอจัดตั้งเขตปลอดอากรต้องจัดให้มีประตูเข้าและออก และรั้วรอบขอบชิดที่เหมาะสม มีความมั่นคงแข็งแรงฐานเป็นคอนกรีตเสริมเหล็กล้อมรอบเขตปลอดอากร เว้นแต่โดยสภาพของกิจการไม่จำเป็นต้องมีรั้ว หรือโดยสภาพแวดล้อมสามารถดำเนินการก่อสร้างสิ่งอื่นทดแทนได้
  4. ผู้ขอจัดตั้งเขตปลอดอากรต้องจัดให้มีระบบสาธารณูปโภค สิ่งอำนวยความสะดวก และบริการที่จำเป็น ตามความเหมาะสมกับลักษณะและขนาดของกิจการแต่ละประเภทบนพื้นฐานทั่วไปดังต่อไปนี้
    1. ระบบถนนภายในและถนนเชื่อมต่อกับถนนหรือทางสาธารณะภายนอกเขตปลอดอากร
    2. ระบบระบายน้ำฝนหรือระบบป้องกันน้ำท่วม
    3. ระบบประปา
    4. ระบบบำบัดน้ำเสียและระบบควบคุมและกำจัดมลพิษ
    5. ระบบสื่อสารโทรคมนาคม
    6. ระบบไฟฟ้า
    7. ระบบดับเพลิงและระบบป้องกันอุบัติภัย
    8. ระบบกำจัดกากอุตสาหกรรม มูลฝอย และสิ่งปฏิกูล
    9. ระบบติดตามตรวจสอบมลพิษและคุณภาพสิ่งแวดล้อม
    10. ระบบรักษาความปลอดภัย ทั้งนี้ กรมศุลกากรสามารถกำหนดให้มีมาตรฐานแตกต่างกันได้ โดยคำนึงถึงความจำเป็น ในการบริหารจัดการ การป้องกันผลกระทบต่อประชาชนหรือสิ่งแวดล้อม ตามลักษณะของกลุ่มอุตสาหกรรมหรือกลุ่มกิจกรรมในเขตปลอดอากร ซึ่งหากบริเวณท้องที่นั้นสามารถใช้ระบบใดระบบหนึ่งตามที่กำหนดจากหน่วยงานของรัฐหรือเอกชนในลักษณะกิจการสาธารณะหรือเป็นธุรกิจภายนอกเขตปลอดอากร ผู้ขอจัดตั้งสามารถจัดให้มีโดยใช้ระบบสาธารณูปโภค สิ่งอำนวยความสะดวก และบริการที่จำเป็นดังกล่าวได้ และห้ามมิให้จัดที่อยู่อาศัยภายในเขตปลอดอากร
  5. กรณีที่ผู้ขอจัดตั้งเขตปลอดอากรประสงค์จะจัดสรรที่ดินที่ขอจัดตั้งเขตปลอดอากร จะต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการจัดสรรที่ดิน และยื่นรายละเอียดเพิ่มเติม ดังนี้
    1. การขออนุญาตและการอนุญาตให้จัดสรรที่ดิน
    2. การค้ำประกันการจัดให้มีระบบสาธารณูปโภคและสิ่งอำนวยความสะดวก
    3. การก่อภาระผูกพันแก่ที่ดินในโครงการ
    4. การดำเนินการให้บริการสิ่งอำนวยความสะดวกและบริการอื่นแก่ผู้ประกอบกิจการในเขตปลอดอากร
    5. การจัดการดูแลและบำรุงรักษาระบบสาธารณูปโภคและสิ่งอำนวยความสะดวก
    6. การจัดเก็บค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาระบบสาธารณูปโภคและสิ่งอำนวยความสะดวก
    7. การจัดให้มีกองทุนหลักประกันเพื่อการบำรุงรักษาและสร้างทดแทนระบบสาธารณูปโภคและสิ่งอำนวยความสะดวก
  6. ผู้ขอจัดตั้งเขตปลอดอากรต้องจัดให้มีสถานที่ อาคาร สิ่งก่อสร้าง เครื่องมือ เครื่องใช้อุปกรณ์สำนักงาน ดังนี้
    1. สถานที่อันควรสำหรับเป็นที่ทำการสำนักงานศุลกากร ตั้งอยู่ในบริเวณที่เหมาะสมและใกล้เคียงกับสถานีตรวจสอบ (Checking Post) โดยมีอุปกรณ์สำนักงานและเครื่องคอมพิวเตอร์เพื่อเชื่อมโยงกับระบบคอมพิวเตอร์สำหรับการบริหารสิทธิประโยชน์ทางภาษีอากรและระบบศุลกากรอิเล็กทรอนิกส์ (TCES) ของกรมศุลกากร และการจัดวางระบบสายสัญญาณสื่อสารที่ดีและมีประสิทธิภาพเพื่อใช้ในการควบคุมการรับมอบ ส่งมอบ การขนย้าย การเก็บรักษา การควบคุมและตรวจปล่อยสินค้าด้วยระบบรหัสแถบเส้น (Bar Code System) หรือระบบควบคุมที่ทันสมัยและสามารถตรวจสอบได้อย่างอื่นตามที่กรมศุลกากรกำหนด รวมถึงอุปกรณ์เครื่องใช้สำนักงานที่จำเป็นและเพียงพอต่อการปฏิบัติงานของพนักงานเจ้าหน้าที่ศุลกากร
    2. สถานที่ตรวจของเข้า ออกอยู่ในบริเวณเดียวกันหรือบริเวณใกล้เคียงกับสำนักงานศุลกากรมีพื้นที่กว้างขวางเพียงพอกับการปฏิบัติงาน พร้อมทั้งต้องจัดให้มีเครื่องมือเครื่องใช้สำหรับการตรวจสินค้าของเจ้าหน้าที่ตามที่กรมศุลกากรกำหนด
    3. สถานีตรวจสอบ (Checking Post) ตั้งอยู่ในบริเวณที่เหมาะสม แยกช่องทางเข้าและออก แต่ละช่องทางเข้า ออกความกว้างไม่น้อยกว่าช่องทางละ 3 เมตร และมีเครื่องชั่งน้ำหนักอิเล็กทรอนิกส์ประจำบริเวณช่องทางเข้า-ออก โดยสามารถแสดงผลมายังที่ทำการสำนักงานศุลกากรได้ มีบริเวณสถานที่จอดรถยนต์เพื่อตรวจยานพาหนะและสินค้าชั่วคราว มีระบบโทรทัศน์วงจรปิด (CCTV) ตามมาตรฐานที่กรมศุลกากรกำหนดและสามารถบันทึกภาพเหตุการณ์ บุคคล หมายเลขทะเบียนยานพาหนะ หมายเลขตู้คอนเทนเนอร์ และหรือสิ่งของที่ผ่านเข้า - ออก และเปิดตรวจสอบข้อมูลภาพย้อนหลังได้ ไม่น้อยกว่า 60 วัน มีระบบคอมพิวเตอร์ที่เชื่อมโยงกับระบบศุลกากรอิเล็กทรอนิกส์ (TCES) และมีเครื่องอำนวยความสะดวกเครื่องมือเครื่องใช้ที่ทันสมัยและจำเป็นเพื่อใช้ในการปฏิบัติงานและการควบคุม ทั้งนี้ ตามความจำเป็นที่กรมศุลกากรกำหนด
    4. ในกรณีที่เป็นเขตปลอดอากรหรือผู้ประกอบกิจการในเขตปลอดอากรที่มีการนำของเข้าหรือส่งของออกโดยผ่านระบบขนส่งหรือขนถ่ายทางท่อต้องจัดให้มีระบบควบคุมการเปิดและปิด ระบบท่อทางและระบบการตรวจวัดที่มีมาตรฐาน เพื่อกรมศุลกากรสามารถตรวจสอบและควบคุมได้
    5. สถานที่อันควรสำหรับเป็นที่พักอาศัยของเจ้าหน้าที่ศุลกากรซึ่งอยู่นอกเขตปลอดอากร โดยอาจอยู่ในบริเวณเดียวกันหรือใกล้เคียงกับสำนักงานศุลกากรตามความเหมาะสม สำหรับผู้จัดตั้งเขตปลอดอากร ณ ท่าอากาศยานนานาชาติ หรือท่าเรือหรือจุดผ่านแดนถาวร ต้องจัดให้มีอุปกรณ์ดังนี้
    6. เครื่องคอมพิวเตอร์และระบบบริหารการจัดการในเขตปลอดอากร พร้อม ระบบบริหารความเสี่ยง (Risk Management) ด้วยระบบเทคโนโลยีสารสนเทศรวมถึงการจัดวางระบบสายสัญญาณสื่อสารที่ดีและมีประสิทธิภาพเพื่อใช้ในการควบคุมการรับมอบ ?ส่งมอบการขนย้าย การเก็บรักษา การควบคุมและตรวจปล่อยสินค้าด้วยระบบรหัสแถบเส้น (Bar Code System) และระบบควบคุมบัญชีสินค้านำเข้า - ส่งออกโดยอัตโนมัติที่สามารถเชื่อมโยงกับระบบคอมพิวเตอร์ของผู้ประกอบกิจการในเขตปลอดอากร เช่น ผู้ประกอบการท่า (Terminal Operator) ผู้ประกอบการคลังสินค้า (Warehouse Operator) ตัวแทนผู้ขนส่ง (Agents Carrier) ผู้รับจัดการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ (International Freight Forwarder) และผู้ประกอบกิจการอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เจ้าหน้าที่ศุลกากรได้ใช้ในการตรวจสอบ ควบคุม และการค้นหาข้อมูลของสินค้าที่นำเข้ามาในเขตปลอดอากรหรือปล่อยไปจากเขตปลอดอากร รวมตลอดถึงเครื่องคอมพิวเตอร์ที่เจ้าหน้าที่ต้องใช้ในด้านพิธีการศุลกากร ซึ่งระบบทั้งหมดดังกล่าวจะต้องสามารถเชื่อมโยงกับระบบคอมพิวเตอร์สำหรับการบริหารสิทธิประโยชน์ทางภาษีอากรและระบบศุลกากรอิเล็กทรอนิกส์ (TCES) ของกรมศุลกากร หรือระบบคอมพิวเตอร์อื่นตามที่กรมศุลกากรกำหนด
    7. เครื่องมือเครื่องใช้และอุปกรณ์ที่ทันสมัยอื่น ๆ เพื่อให้เจ้าหน้าที่ศุลกากรใช้สนับสนุนการปฏิบัติงานและเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการในเขตปลอดอากร เช่น ห้องควบคุมระบบ กล้องวงจรปิดที่มีประสิทธิภาพ เครื่องชั่งน้ำหนัก เป็นต้น ทั้งนี้ ตามความจำเป็นที่กรมศุลกากรกำหนด อธิบดีหรือผู้ที่อธิบดีมอบหมายอาจผ่อนผันหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในข้อนี้ได้หาก มีเหตุผลอันสมควร
  7. ผู้ขอจัดตั้งเขตปลอดอากรต้องจัดให้มีระบบคอมพิวเตอร์ที่เชื่อมโยงกับระบบคอมพิวเตอร์ของผู้ประกอบกิจการภายในเขตปลอดอากร เพื่อให้เจ้าหน้าที่ศุลกากรที่กำกับดูแลเขตปลอดอากรใช้ในการตรวจสอบ ควบคุม และค้นหาข้อมูลของสินค้าที่นำเข้ามาในหรือปล่อยออกไปจากเขตปลอดอากร ตามมาตรฐานที่กรมศุลกากรกำหนด
  8. ผู้ขอจัดตั้งเขตปลอดอากรต้องมีการจัดทำป้ายชื่อสถานที่เขตปลอดอากร ทำด้วยวัสดุที่มั่นคง แข็งแรง และสามารถมองเห็นได้ชัดเจน - ป้ายชื่อเขตปลอดอากร "เขตปลอดอากร... ภายใต้การควบคุมตามกฎหมายศุลกากร" ขนาดตัวอักษรไม่ต่ำกว่า 12 นิ้ว ติดตั้งบริเวณด้านหน้าเขตปลอดอากรให้บุคคลภายนอกสามารถมองเห็นได้ชัดเจน - ป้ายชื่อที่ทำการศุลกากร "สำนักงานศุลกากรประจำเขตปลอดอากร..." ขนาดตัวอักษรไม่ต่ำกว่า 4 นิ้ว ติดตั้งไว้ด้านหน้าที่ทำการศุลกากร - ป้ายชื่อสถานีตรวจสอบ "สถานีตรวจสอบ (Checking Post)" ขนาดตัวอักษร ไม่ต่ำกว่า 3 นิ้ว ติดตั้งไว้ส่วนบนด้านหน้าของสถานีตรวจสอบ
  9. ขอจัดตั้งเขตปลอดอากรต้องจัดทำแผนที่แสดงอาณาเขตและแผนผังพื้นที่หรือบริเวณที่ได้รับอนุมัติให้จัดตั้งเขตปลอดอากร ชนิดมาตราส่วน ๑ : ๕๐,๐๐๐ ขนาด A ๔ จำนวน ๒ แผ่น ยื่นต่อกรมศุลกากรก่อนเปิดดำเนินการเขตปลอดอากรเพื่อประกาศให้ทราบโดยทั่วกัน

การขออนุมัติจัดตั้งเขตปลอดอากร วิธีการยื่นคำขอจัดตั้งเขตปลอดอากร
ผู้ขอจัดตั้งเขตปลอดอากรจะต้องยื่นแบบคำขอจัดตั้งเขตปลอดอากร ที่ฝ่ายจัดตั้งเขตปลอดอากร ส่วนหลักเกณฑ์และทะเบียนสิทธิประโยชน์ สำนักสิทธิประโยชน์ทางภาษีอากร พร้อมเอกสารประกอบดังนี้
  1. รายละเอียดโครงการจัดตั้งเขตปลอดอากร อย่างละ 2 ชุด
    1. โครงการและวัตถุประสงค์ ประเภทหรือกลุ่มอุตสาหกรรมหรือกลุ่มกิจกรรมเป้าหมายที่จะเข้ามาดำเนินการในเขตปลอดอากร
    2. แผนงานปรับปรุงที่ดินหรือพื้นที่เพื่อใช้เป็นเขตปลอดอากร การจัดให้มีระบบสาธารณูปโภคและสิ่งอำนวยความสะดวก แผนผังการใช้ประโยชน์ในที่ดินหรือพื้นที่ แผนการบริหารจัดการเขตปลอดอากร ระยะเวลาที่ใช้ดำเนินการจัดสร้างสิ่งปลูกสร้างสาธารณูปโภคและสิ่งอำนวยความสะดวกอื่นๆ และกำหนดระยะเวลาการพัฒนาโครงการตั้งแต่เริ่มต้นจนแล้วเสร็จ
    3. แผนการเงิน แหล่งเงินทุนและขนาดของการลงทุน
    4. แผนการขาย ให้เช่า ให้เช่าซื้อ หรือการใช้สิทธิครอบครองอสังหาริมทรัพย์หรือสังหาริมทรัพย์ เพื่อใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีอากร
    5. แผนการดูแลรักษาสาธารณูปโภคและบริการสาธารณะหรือข้อเสนอเกี่ยวกับการจัดตั้งกองทุนเพื่อบำรุงรักษา ซ่อมแซม และเสริมสร้างระบบสาธารณูปโภคและสิ่งอำนวยความสะดวก
    6. โครงการที่จะขยายได้ในอนาคต (ถ้ามี)
    7. อื่น ๆ เช่น ผลที่จะเกิดจากการดำเนินการที่เป็นประโยชน์แก่การเศรษฐกิจของประเทศ มาตรการป้องกันความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน รายงานการวิเคราะห์ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมของโครงการที่ได้รับความเห็นชอบแล้ว (ถ้ามี) และมาตรการกำจัดมลภาวะและรักษาสิ่งแวดล้อม เป็นต้น
  2. สำเนาใบสำคัญแสดงการจดทะเบียนนิติบุคคล 2 ชุด
  3. สำเนาหนังสือรับรองการจดทะเบียนนิติบุคคล และบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น(บอจ.5)ออกโดยกระทรวงพาณิชย์ไม่เกิน 6 เดือน ก่อนวันยื่นคำขอ 2 ชุด
  4. สำเนาใบทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภพ.20) 2 ชุด
  5. งบการเงินที่ได้รับการรับรองจากผู้ตรวจสอบบัญชีรับอนุญาต ย้อนหลัง 3 ปี หรือประมาณการรายได้ล่วงหน้า 3 ปี สำหรับนิติบุคคลที่จดทะเบียนใหม่ต้องเสนอรายงานการศึกษา ความเป็นไปได้ของโครงการด้วย 2 ชุด
  6. สำเนาโฉนดที่ดิน หรือสำเนาหนังสือแสดงสิทธิในที่ดิน หรือหนังสืออนุญาตให้มีสิทธิในการบริหารจัดการในที่ดินหรือพื้นที่ที่ขอจัดตั้ง หรือหลักฐานแสดงการจะได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์หรือ สิทธิครอบครองในที่ดิน (สัญญาจะซื้อจะขายที่ดิน) ที่เจ้าของที่ดินได้ยินยอมให้ดำเนินการจัดตั้งเขตปลอดอากร 2 ชุด
  7. แบบแปลนแผนผังของสถานที่ที่ขอจัดตั้ง และสิ่งปลูกสร้างขนาดไม่ต่ำกว่า 40 x 60 ซ.ม. ๓ ชุด
  8. หนังสือรับรองการก่อสร้าง และการจัดหาเครื่องมือ เครื่องใช้ อุปกรณ์สำนักงาน สิ่งอำนวยความสะดวก และสาธารณูปโภคที่จำเป็น เพื่อให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไข รวมทั้งกำหนดขั้นตอนและระยะเวลาในการดำเนินโครงการตั้งแต่เริ่มต้นจนพร้อมที่จะเปิดดำเนินการ 2 ชุด
  9. กรณีที่ผู้ขอจัดตั้งเขตปลอดอากรเพื่อประกอบการอุตสาหกรรม ให้ยื่น
    • สำเนาหนังสืออนุญาตให้เป็นเขตประกอบอุตสาหกรรม หรือให้เป็นเขตอุตสาหกรรมประเภทอาคารโรงงานเอกเทศจากระทรวงอุตสาหกรรม หรือ
    • สำเนาหนังสืออนุญาตจากการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ให้ใช้พื้นที่ในเขตอุตสาหกรรมทั่วไป หรือ
    • สำเนาหนังสือส่งเสริมการลงทุนจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ
    • สำเนาประกาศคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ หรือ
    • สำเนาหนังสืออนุญาตหรือหนังสือรับรองสำหรับอุตสาหกรรมอื่นใดที่เป็นประโยชน์แก่การเศรษฐกิจของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
    • ในกรณีที่พื้นที่ที่ขอจัดตั้งมีผู้ประกอบการอุตสาหกรรม พาณิชยกรรม หรือกิจการอื่นใดที่เป็นประโยชน์แก่การเศรษฐกิจของประเทศอยู่ก่อนแล้ว ให้แสดงหนังสืออนุญาตหรือหนังสือรับรองให้ประกอบการตามที่ได้รับอนุญาตจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
    (กรณีการขอจัดตั้งเขตปลอดอากรเกี่ยวกับปิโตรเลียมหรือปิโตรเคมีที่เป็นของเหลว ให้ดำเนินการตามประกาศกรมศุลกากร ที่ 10/2547 ลงวันที่ 23 มกราคม 2547)

การเป็นผู้ประกอบกิจการในเขตปลอดอากร
 

คุณสมบัติของผู้ขอประกอบกิจการในเขตปลอดอากร
  1. เป็นนิติบุคคลตามกฎหมาย กรณีเป็นนิติบุคคลตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์จะต้องมีทุนจดทะเบียนที่ชำระแล้วไม่ต่ำกว่า 5 ล้านบาท หรือมีทุนจดทะเบียนชำระแล้วในจำนวนที่อธิบดีเห็นว่าเหมาะสมกับประเภทของกิจการ กรณีเป็นผู้ประกอบกิจการในเขตปลอดอากรซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษจะต้องเป็นนิติบุคคลตามกฎหมาย กรณีเป็นนิติบุคคลตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ต้องมีทุนจดทะเบียน ที่ชำระแล้วไม่ต่ำกว่า ๑ ล้านบาท
  2. มีฐานะการเงินมั่นคง โดยพิจารณาจากผลประกอบการที่ได้นำส่งงบการเงินต่อกระทรวงพาณิชย์ตามข้อกำหนดของกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งผู้ตรวจสอบบัญชีรับอนุญาตได้รับรองว่าเป็นกิจการที่มีกำไรย้อนหลัง 3 ปีบัญชีสุดท้ายติดต่อกัน
  3. เป็นผู้มีกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองในที่ดินหรือพื้นที่ที่ขอประกอบกิจการในเขตปลอดอากร
  4. เป็นผู้ที่ได้รับความยินยอมจากผู้ได้รับอนุมัติให้จัดตั้งเขตปลอดอากร กรณีที่มีการโอนกรรมสิทธิ์หรือสิทธิบริหารจัดการพื้นที่ที่ได้รับอนุมัติให้จัดตั้งเขตปลอดอากร หรือกรณีมีการเช่าช่วงพื้นที่ที่ได้รับอนุมัติให้จัดตั้งเขตปลอดอากร ผู้ขอประกอบกิจการในเขตปลอดอากรจะต้องได้รับความยินยอมจากผู้รับโอนกรรมสิทธิ์หรือรับโอนสิทธิบริหารจัดการหรือผู้เช่าช่วงทุกช่วงสิทธิเพิ่มเติมให้ครบถ้วน
  5. ผู้ประกอบกิจการในเขตปลอดอากร ต้องดำเนินกิจการที่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ในการจัดตั้งเขตปลอดอากรหรือกิจการอื่นใดที่อธิบดี หรือผู้ที่อธิบดีมอบหมายเห็นว่าเป็นประโยชน์แก่การเศรษฐกิจของประเทศ
  6. ต้องไม่เคยมีประวัติการกระทำความผิดอย่างร้ายแรง ตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากรและกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องกับการศุลกากรย้อนหลัง 3 ปี นับแต่วันยื่นคำขอ

การขอเป็นผู้ประกอบกิจการในเขตปลอดอากร
ผู้ประกอบกิจการสามารถยื่นคำขอประกอบกิจการในเขตปลอดอากร ที่ ฝ่ายจัดตั้งเขตปลอดอากร ส่วนหลักเกณฑ์และทะเบียนสิทธิประโยชน์ สำนักสิทธิประโยชน์ทางภาษีอากร พร้อมเอกสารประกอบดังนี้
  1. รายละเอียดการขอประกอบกิจการในเขตปลอดอากร อย่างละ 2 ชุด ได้แก่ วัตถุประสงค์ ประเภทของกิจการ แผนงานและกระบวนการผลิต กำลังการผลิตและจำนวนเครื่องจักร เครื่องมือ เครื่องใช้ และอุปกรณ์ที่จำเป็นต้องใช้ในกระบวนการผลิต รวมถึงประมาณการขยายกำลังการผลิตเพิ่มเติมในภายหน้า และแหล่งเงินทุน สถาบันการเงินที่ส่งเสริมสนับสนุน
  2. สำเนาใบสำคัญแสดงการจดทะเบียนนิติบุคคล 2 ชุด
  3. สำเนาหนังสือรับรองการจดทะเบียนนิติบุคคล และบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น(บอจ.5)ออกโดยกระทรวงพาณิชย์ ไม่เกิน 6 เดือนก่อนวันยื่นคำขอ  2  ชุด
  4. สำเนาใบทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ.20)  2  ชุด
  5. สำเนาหนังสือแสดงกรรมสิทธิ์ หรือสิทธิครอบครองในที่ดินที่ขอประกอบกิจการ 2  ชุด
  6. หนังสือยินยอมจากผู้ได้รับอนุมัติจัดตั้งเขตปลอดอากร กรณีที่มีการโอนกรรมสิทธิ์หรือโอนสิทธิบริหารจัดการหรือเช่าช่วงพื้นที่ที่ได้รับอนุมัติให้จัดตั้งเขตปลอดอากรต้องมีหนังสือยินยอมจากผู้รับโอนกรรมสิทธิ์หรือรับโอนสิทธิบริหารจัดการหรือผู้เช่าช่วงเพิ่มเติมทุกช่วงสิทธิด้วย   2  ชุด
  7. งบการเงินที่ได้รับการรับรองจากผู้ตรวจสอบบัญชีรับอนุญาตย้อนหลัง  3  ปี  หรือประมาณการรายได้ล่วงหน้า 3 ปี 2  ชุด
  8. แบบแปลนแผนผังสถานที่ตั้งสถานประกอบกิจการในเขตปลอดอากร ขนาด  ไม่ต่ำกว่าขนาด A 3 ที่รับรองโดยผู้จัดตั้งเขตปลอดอากร อย่างละ  3  ชุด


                                                การตรวจสอบสิทธิประโยชน์ทางภาษีอากรด้านเขตปลอดอากร
ผู้จัดตั้งเขตปลอดอากร

 

         ผู้ได้รับอนุมัติจัดตั้งเขตปลอดอากรต้องจัดให้มีระบบอิเล็กทรอนิกส์ในการรวบรวมข้อมูลสรุปผลการนำของเข้าและออก การเคลื่อนย้ายภายในเขตปลอดอากร การโอนย้ายภายในประเทศ หรือการดำเนินการอื่นใดที่มีผลต่อสินค้าคงคลังของผู้ประกอบกิจการในเขตปลอดอากร พร้อมทั้งส่งข้อมูลรายงานยืนยันการโอนย้ายของเข้า และออกเขตปลอดอากรดังกล่าวเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ของศุลกากรตามมาตรฐานที่กรมศุลกากรกำหนด
         ผู้ได้รับอนุมัติจัดตั้งเขตปลอดอากรต้องจัดให้มีผู้บริหารเขตปลอดอากร (Free Zones Operator) เพื่อทำหน้าที่กำกับดูแลการเคลื่อนย้ายสินค้าเข้ามาในหรือออกไปจากเขตปลอดอากร การเคลื่อนย้ายภายในเขตปลอดอากร และการเคลื่อนย้ายระหว่างเขตปลอดอากรหรือสิทธิประโยชน์ทางภาษีอากรอื่นภายใต้การควบคุมของสำนักงานศุลกากรที่กำกับดูแลเขตปลอดอากร รวมถึงการจัดทำรายงานสรุปผลการดำเนินการของผู้ได้รับอนุมัติให้จัดตั้งเขตปลอดอากรและผู้ประกอบกิจการในเขตปลอดอากรตามมาตรฐานและช่วงระยะเวลาที่กรมศุลกากรกำหนด


ผู้ประกอบกิจการในเขตปลอดอากร
         ผู้ประกอบกิจการในเขตปลอดอากรต้องจัดทำรายงานตามรูปแบบที่กรมศุลกากรกำหนดแนบท้ายประกาศกรมศุลกากร ที่ 32/2559 ในรูปแบบ Excel File ที่บันทึกในแผ่นบันทึกข้อมูลชนิดอ่านอย่างเดียวยื่นต่อสำนักงานศุลกากรที่กำกับดูแลเขตปลอดอากร ภายใน 15 วัน นับแต่วันสิ้นงวด โดยกำหนดปีละ 2 งวด ทั้งนี้ ให้ถือวันที่ 30 มิถุนายน  และ 31 ธันวาคม ของแต่ละปีเป็นวันสิ้นงวด พร้อมกับนำส่งสำเนางบการเงินฉบับที่ผู้ตรวจสอบบัญชีรับอนุญาตรับรองแล้ว  และให้จัดเตรียมของคงเหลือให้เจ้าหน้าที่ศุลกากรส่วนตรวจสอบเขตปลอดอากร สำนักสิทธิประโยชน์ทางภาษีอากร และสำนักงานศุลกากรที่กำกับดูแลเขตปลอดอากรตรวจนับร่วมกันอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง ในกรณีมีเหตุอันควรสงสัยเจ้าหน้าที่อาจะเพิ่มความถี่ในการตรวจสอบตามเหตุผลและความจำเป็น
         กรณีผู้ประกอบกิจการในเขตปลอดอากรไม่จัดส่งรายงานประจำงวดให้เจ้าหน้าที่ศุลกากร และ/หรือไม่จัดส่งข้อมูลให้กับผู้บริหารเขตปลอดอากรภายในเวลาที่กำหนด กรมศุลกากรจะพิจารณาความผิดและบังคับสัญญาประกันและทัณฑ์บนตามหลักเกณฑ์ เว้นแต่จะมีการขอผ่อนผันก่อนครบกำหนดเวลาที่กำหนดและได้รับอนุมัติ
ประกาศกรมศุลกากรที่เกี่ยวข้อง : ประกาศกรมศุลกากรที่ 32/2559 

 

 

 

 

 

วันที่ปรับปรุงล่าสุด : 4 กรกฎาคม 2560 15:42:13
จำนวนผู้เข้าชม : 4,504
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ : สำนักสิทธิประโยชน์ทางภาษีอากร (สสอ.)
กรมศุลกากร เลขที่ 1 ถ.สุนทรโกษา คลองเตย กทม. 10110
หมายเลขโทรศัพท์ : 0-2667-6010
อีเมล์ : 82000100@customs.go.th